นาทีนี้ เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco- Friendly Packaging) มาแรงแซงทางโค้งไปแล้วค่ะ
ในยุคนี้สมัยนี้ ประชากรโลกต่างให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลรักษ์โลกกันมากยิ่งขึ้นแบบร้อยเท่าทวีคูณเลยก็ว่าได้ ก็เพราะว่าผู้คนบนโลกใบนี้ต่างสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่มีทั้งเปลี่ยนแปลง และแปรปรวนไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ฝนตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตาจนเกิดสถานการณ์ดินถล่ม น้ำท่วมใหญ่แบบฉับพลันทันที, พายุก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม, ฤดูร้อนก็ร้อนหนักกว่าเดิม, ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนเกิดน้ำท่วมบ้านเรือน หรือจะพูดกันให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ ธรรมชาติได้มีบทลงโทษแก่หมู่มวลมนุษยชาติ ที่ได้ใช้โลกกลมๆ ใบนี้อย่างไม่ใส่ใจทะนุถนอมมาเป็นเวลาเนิ่นนาน จนก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนที่ได้ส่งผลกระทบต่อประชากรโลกไปทั่วทุกหย่อมหญ้ากันเลยทีเดียว
Thank you for reading this post, don't forget to subscribe!
กว่าที่ประชากรโลกจะหันมาตระหนักรู้ และให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมโลกอย่างจริงจัง จนเป็นที่มาของการรณรงค์ “การลดสภาวะโลกร้อน” กันแบบทุกทิศทุกทาง ก็เกือบจะสายเกินแก้ (แต่ทุกอย่างต้องมีทางออกเสมอ ตราบใดที่ยังมีแสงสว่างจากพระอาทิตย์ขึ้นในยามเช้าของทุกๆวันค่ะ)
ผู้ประกอบการที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในการส่งมอบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ให้ถึงมือผู้บริโภค ต่างหันมาไตร่ตรองถึงการเปลี่ยนผ่านมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเป็นผู้ประกอบการที่ใส่ใจต่อสิ้งแวดล้อมโลก และเป็นผู้ประกอบการที่ดีในสายตาของผู้บริโภคกันต่อไปค่ะ

มาดูกันดีกว่าค่ะว่า 4 ขั้นตอนในการส่งผ่านและหันมาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ได้แบบยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลก เค้ามีขั้นตอนอย่างไรกันบ้างน้า :
ขั้นตอนที่ 1). อย่าเปลี่ยนทุกอย่างทันทีในคราวเดียวกัน (Don’t change everything at once)
หากคุณเป็นผู้ประกอบการที่เริ่มแรกเดิมที มิได้ใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอาจจะเริ่มต้นจากการค่อยๆ แก้ไข เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง หันมาเริ่มใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากกว่าเดิม (แต่อย่าเริ่มจากการปรับเปลี่ยนทั้งหมดในคราวเดียวกันทันที แต่ให้ทำแบบค่อยๆ แก้ไข ปรับปรุง เพื่อมิให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีนั่นเองค่ะ) ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใดๆ นั้น ต้องเริ่มต้นจาก การสรรหาวัสดุที่จะนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ก่อนค่ะ และตามติดด้วยการทำวิจัยก่อนว่าจะทำได้หรือไม่ เหมาะสมหรือเปล่า และเมื่อลองทำออกมาแล้วก็ต้องมีการทำการทดสอบ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ต้องลองผิดลองถูกกันก่อนนั่นเองค่ะ

ขั้นตอนที่ 2). สั่งซื้อตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ (Order samples of packaging)
มีโรงงานผู้ประกอบการ การผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly packaging) ให้ได้เลือกสั่งซื้อกันอยู่มากมายหลากหลายเจ้าในยุคนี้ สมัยนี้ค่ะ ก็ลองสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มันหลากหลายแบบมาลองใส่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเรา และพิจารณาดูก่อนว่ามันจะเวิร์คหรือไม่ค่ะ
2.1) หน้าตาของบรรจุภัณฑ์แบบนี้มันเข้ากันได้ หรือไปด้วยกันได้ (Compatibility) กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเราหรือไม่ ก็ลองนำสินค้าใส่เข้าไปดูค่ะ เพื่อดูว่าบรรจุภัณฑ์นี้เหมาะสมที่จะเลือกใช้หรือไม่ เปิดปิดง่ายมั๊ย เป็นต้นค่ะ

2.2) ความคงทน / ความทนทาน (Durability) ขั้นตอนนี้ก็มีความสำคัญมากเช่นกันค่ะ หากเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ดูดี สวย ถูกใจแล้ว แต่วัสดุที่ใช้ไม่ทนทานประเภท ถือเดินแล้วสินค้าหลุดออกมาก็ไม่ไหวน่ะค่ะ เราจึงจำเป็นต้องทดสอบในขั้นตอนนี้อย่างหนักเหมือนกันค่ะ โดยการใส่สินค้าลงไปในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมชิ้นนี้เพื่อลองโยน หรือ กระแทกดู เพื่อจะดูว่าหากเราเลือกซื้อหรือทำการผลิตบรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้กันจริงๆ แล้ว หากต้องมีการขนส่งในระยะทางไกลๆ เช่นระหว่างประเทศ โยนกล่องหรือลังที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ไม่ใช่สินค้าหลุดกระจุยกระจายออกนอกบรรจุภัณฑ์ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แสดงว่า มันไม่เวิร์คนั่นเองค่ะ

2.3) น้ำหนัก (Weight) และขนาด (Size) ของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเลือกนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าของเรานั้น หากมีน้ำหนักที่มากจนเกินไป หรือมีขนาดใหญ่เกินกว่าสินค้ามากไป อย่าลืมว่าหากเราจะต้องมีการขนส่งแบบชั่งน้ำหนัก เช่นขนส่งทางอากาศ หรือ ทางบกก็ตามทีก็จะทำให้เกิดการสิ้นเปลืองค่าขนส่งที่มากเกินความจำเป็น ตรงนี้ก็ต้องนำมาพิจารณากันให้หนักๆ เหมือนกันนะคะ

ขั้นตอนที่ 3). พิจารณาดูความเหมาะสมของราคาบรรจุภัณฑ์ (Adjust your pricing)
หากทุกอย่างในขั้นตอนที่ 1 และในขั้นตอนที่ 2 ผู้ประกอบการได้ทำการเลือกกันได้อย่างลงตัวกันเป็นที่เรียบร้อย แต่ราคาของบรรจุภัณฑ์นั้นสูงลิ่ว จนต้องทำให้ปรับเพิ่มราคาสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ ตรงนี้ก็ต้องระวังเช่นกันค่ะ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคากับคู่แข่งทางการค้าในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็เป็นไปได้ค่ะ

ขั้นตอนที่ 4). สั่งซื้อในปริมาณน้อยๆ ก่อน (Order small volumes)
ขั้นตอนนี้ ก็ถือว่ามีความสำคัญอยู่มิใช่น้อยค่ะ กล่าวคือ ในกรณีที่ผู้ประกอบการเพิ่งจะเริ่มสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลกจากผู้ค้า ขอให้ลองเริ่มจากการสั่งซื้อวัสดุเพื่อที่จะมาทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปริมาณน้อยๆ ก่อนจะดีกว่าค่ะ เพื่อจะดูถึงความทนทานของบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งฟังเสียงตอบรับจากลูกค้าด้วยว่า โอเคและพร้อมเปิดรับกับสไตล์บรรจุภัณฑ์ใหม่ของผู้ประกอบการหรือไม่ นอกจากนี้ยังจะต้องเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของบรรจุภัณฑ์แบบใหม่กับบรรจุภัณฑ์แบบเก่ากันอีกด้วยค่ะว่า แบบไหนจะมีข้อดีมากกว่ากันค่ะ
จากที่ได้เล่าแนวทางมาทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวกับการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโลกนั้น มันก็ต้องอิงกับประเภทของธุรกิจที่ผู้ประกอบการดำเนินงานอยู่กันอีกด้วยค่ะ (อะไรดี อะไรเลิศ ก็ต้องส่งเสริม และสนับสนุนกันไปยาวๆ ค่ะ)